เรื่องที่5การสร้างและนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ
กลยุทธ์ เป็นแผนงานที่นำมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน เราจำเป็นต้องสร้างกลยุทธ์เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพเนื่องจากทรัพยากรที่จะใช้มีจำนวนจำกัด
กลยุทธ์เป็นเรื่องของการกำหนดเป้าหมาย คือกำหนดว่าจะต้องทำอะไรบ้างจึงจะบรรลุเป้าหมาย แล้วจัดสรรทรัพยากรเพื่อนำมาใช้กับการกระทำนั้น กลยุทธ์จึงเป็นการอธิบายให้รู้ว่าจะบรรลุเป้าหมายด้วยทรัพยากรนั้นได้อย่างไร โดยปกติแล้วการสร้างกลยุทธ์เป็นภาระหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงในองค์กร กลยุทธ์อาจอยู่ในรูปแผนงานหรือการปรับตัวขององค์กรให้เข้ากับสภาพแวดล้อมหรือเข้าต่อสู้กับคู่แข่ง
องค์ประกอบของกลยุทธ์
ศาสตราจารย์ Richard P. Rumelt กล่าวว่า กลยุทธ์ที่ดีจะต้องมีโครงสร้างซึ่งเป็นแก่น (kernel) สามส่วน ได้แก่
- การวินิจฉัย (diagnosis) บรรยายให้เห็นถึงเนื้อหาสาระของปัญหา
- นโยบายหลัก (guiding policy) ที่จะนำมาใช้กับปัญหานั้น
- แผนปฏิบัติการ (action plans) ต่างๆ ที่สอดคล้องต้องกันซึ่งจะนำมาใช้สนองนโยบายหลัก
ประธานาธิบดีเคนเนดี้เคยปาฐกถาเรื่อง “วิกฤตขีปนาวุธคิวบา” นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้สามารถเข้าใจโครงสร้างกลยุทธ์ตามแนวคิดของ Rumelt ได้อย่างชัดเจน
การวินิจฉัย : “รัฐบาลขอสัญญาว่าจะติดตามเฝ้าดูงานก่อสร้างทางทหารของโซเวียตที่กระทำบนเกาะคิวบาอย่างใกล้ชิด โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีหลักฐานแน่ชัดว่าได้มีการเตรียมการสร้างฐานยิงขีปนาวุธหลายชุดบนเกาะคิวบา วัตถุประสงค์ของการสร้างฐานยิงดังกล่าวเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากการเพิ่มศักยภาพการโจมตีประเทศในซีกโลกตะวันตกด้วยอาวุธนิวเคลียร์”
นโยบายหลัก: “วัตถุประสงค์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงของเรา คือ การป้องกันไม่ให้มีการใช้ขีปนาวุธต่อประเทศอเมริกาหรือประเทศอื่น และยืนยันการให้ถอนหรือกำจัดขีปนาวุธนี้ออกไปจากซีกโลกตะวันตก”
แผนปฏิบัติการ: “ขั้นตอนแรกของทั้งสิ้นเจ็ดขั้นตอน คือ การสกัดกั้นอุปกรณ์ทางทหารทุกชนิดที่ขนส่งทางเรือมายังประเทศคิวบา เรือทุกลำที่มายังประเทศคิวบาไม่ว่าจากชาติหรือท่าเรือใด หากพบว่าบรรทุกอาวุธคุกคามจะถูกสั่งให้หันหัวกลับ”
Rumelt กล่าวว่า กลยุทธ์มีคุณสมบัติที่สำคัญสามประการ คือ (1) คิดล่วงหน้า (2) ประมาณการพฤติกรรมของผู้อื่น และ (3) กำหนดการกระทำที่มีความสอดคล้องสัมพันธ์และมุ่งหมายให้เกิดผลสำเร็จ กลยุทธ์ตามความเห็นของเขาเป็นการคิดแก้ปัญหาด้วยการใช้องค์ประกอบที่หลากหลายซึ่งต้องลงมือปฏิบัติและปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่ใช่เป็นเพียงแผนงานหรือทางเลือก
การสร้างและนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ
กลยุทธ์ประกอบด้วยกระบวนการสองกระบวนการ คือ
- การสร้างกลยุทธ์ (formulation) เกี่ยวข้องกับ
- การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์
- การวินิจฉัย
- การพัฒนานโยบายหลักโดยใช้การวางแผนกลยุทธ์และการคิดเชิงกลยุทธ์
2. การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ (implementation) เกี่ยวข้องกับการทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในนโยบายหลัก
Bruce Henderson กล่าวว่า กลยุทธ์ขึ้นอยู่กับความสามารถในการมองไปในอนาคตให้เห็นถึงผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำในปัจจุบัน การสร้างกลยุทธ์จะต้องอาศัยปัจจัยสำคัญสามประการ ได้แก่
1) ความรู้จริงเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางการตลาดและคู่แข่ง
2) ความสามารถในการนำความรู้ไปปรับใช้อย่างเป็นระบบ
3) จินตนาการและตรรกะในการเลือกใช้ทางเลือกที่มีอยู่
Henderson ให้ความเห็นว่าเราต้องให้คุณค่าและความสำคัญกับการสร้างและใช้กลยุทธ์เนื่องจากเรามีทรัพยากรจำกัดและเมื่อตัดสินใจใช้แล้วก็ไม่สามารถจะทวงคืนกลับมาได้ นอกจากนั้นยังมีความไม่แน่นอนในหลายๆ เรื่อง เช่น ความสามารถเจตนาหรือการรวมหัวกันของคู่แข่ง และการควบคุมการปฏิบัติ
กลยุทธ์ธุรกิจสมัยใหม่เริ่มมีการศึกษาและทดลองปฏิบัติกันจริงจังในทศวรรษที่ 1960 ก่อนหน้านั้นแทบจะไม่มีแนวคิดเรื่อง “กลยุทธ์” หรือ “คู่แข่ง” ปรากฎในบทความด้านการบริหารเลย
Alfred Chandler (1962) กล่าวว่า “กลยุทธ์คือการกำหนดเป้าหมายระยะยาวของกิจการและการจัดกิจกรรมตลอดจนทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น”
Michael Porter (1980) กล่าวว่า “กลยุทธ์คือสูตรคร่าวๆ ในเรื่องที่ว่าธุรกิจจะทำการแข่งขันกับคู่แข่งอย่างไร เป้าหมายควรเป็นเช่นไร และจะใช้นโยบายอะไรในการทำให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้น”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น