บทที่7จริยธรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
เรื่องที่2หลักความจริงข้อมูล
ทัศนะเกี่ยวกับความจริงและสิ่งที่เป็นจริง
ความจริง (truth) หรือ “สัจจะ” มีลักษณะเป็นนามธรรม เมื่อเราพูดถึงความจริงของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเรามักหมายถึง หลักการที่มีอยู่แน่นอนมั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้น เช่น “ชีวิตเป็นทุกข์” “สังขารเป็นของไม่เที่ยง” “ไม่มีอะไรเกิดจากความว่างเปล่า” ล้วนแต่เป็นการบอก “ความจริง” ทั้งสิ้น
ความจริงเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความรู้ เพราะเมื่อเราบอกว่าเรามีความรู้ ก็คือเรารู้ความจริงหรือเข้าถึงความจริงของสิ่งที่เป็นจริง (แต่อย่าลืมว่า ความจริงก็มีหลายระดับ) ดังนั้น การจะเข้าใจว่า สิ่งที่เป็นจริง หรือ reality คืออะไร และการเข้าถึงสิ่งที่เป็นจริงหรือสิ่งที่มีอยู่จริงนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่มีอยู่ (being) ในจักรวาลมีอยู่ 2 สภาวะ คือ
1. สภาวะที่ปรากฏ (appearance) หรือ มายาภาพ คือ สิ่งที่มนุษย์รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5
2. สภาวะความเป็นจริง (reality) หรือ สัจจะภาวะ คือ สิ่งที่เป็นจริงที่อยู่เบื้องหลังสภาวะที่ปรากฏโดยไม่บิดเบือนหรือผันแปรไปตามการรับรู้ของบุคคล
ดังนั้น การรู้ “ความจริง” ก็คือ การรู้ที่ตรงกับสภาวะความเป็นจริง ไม่ใช่รู้เพียงสภาวะที่ปรากฏ การรู้ความจริงของสภาวะความเป็นจริงเท่านั้นที่จะเรียกได้ว่าเป็น “ความรู้” (ในขณะที่การรู้สภาวะที่ปรากฏ เป็นเพียงการเห็น หรือข้อมูล)
ทัศนะแบบจิตนิยม (idealism)
เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าสิ่งที่เป็นความจริงเนื้อแท้นั้น มิได้มีเพียง สสารหรือวัตถุเท่านั้น หากแต่ยังมี อสสาร (immaterial) อีกด้วย กล่าวคือ อสสาร เป็นสิ่งไม่กินที่ ไม่กินเวลา อยู่พ้นโลกวัตถุออกไป มีอยู่ด้วยตนเอง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ถูกจำกัดด้วยกาละ (time) และเทศะ (space) เป็นหลักการสำคัญที่ทำให้โลก มนุษย์และสรรพสิ่งมีระบบ ระเบียบ มีกฎเกณฑ์ มีความสม่ำเสมอ
นอกจากนี้สิ่งเหนือธรรมชาติเหนือประสาทสัมผัส (unseen world) ก็จัดเป็น อสสาร ตามกรอบแนวคิดแบบจิตนิยมด้วย ในขณะที่ ค่านิยม (values) เช่น ความดี ความงาม ความถูกต้อง ความยุติธรรม ที่ปรากฏอยู่ในโลก นักจิตนิยมก็เห็นว่ามีต้นกำเนิดอยู่ที่ อสสาร นั่นเอง
ดังนั้น ทัศนะแบบจิตนิยมจึงท่าทีต่อค่านิยม เช่น ความดี ว่ามีคุณค่าในตัวเอง แม้ไม่มีใครรู้เห็น คุณค่าเหล่านั้นก็ไม่ได้สูญหายไป ขณะเดียวกันก็มีท่าทีต่อการแสวงหาความสุขทางกาย ว่าเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์
นักคิดในลัทธิจิตนิยมเห็นว่าโลก มนุษย์และสรรพสิ่งล้วนแต่ไม่สมบูรณ์ ไม่เที่ยง มีการผันแปรเปลี่ยนแปลงไปตามกาละ เทศะ แต่ก็ยังมีอีกโลกหนึ่งที่จริง สมบูรณ์ คงอยู่นิรันดร์ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม ดังเช่น “แบบ” และ “ทฤษฎีแบบ” ของพลาโต (Plato)
ทฤษฎีแบบของพลาโต (Theory of Ideas)
พลาโตเห็นว่า ยังมีอีกโลกหนึ่งที่เรียกว่า โลกแห่งแบบ (World of Ideas) ที่สมบูรณ์ ดีงาม จริงแท้ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่สูญสลาย ไม่ถูกทำลาย ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง และเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งในโลกมนุษย์ แต่แบบและโลกแห่งแบบนั้น ไม่อาจสัมผัสหรือรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เพราะเป็น “อสสาร”
“แบบ” เป็นความจริงสูงสุดในทัศนะของพลาโต ซึ่งแบบจะอยู่แยกออกไปจากโลกมนุษย์ คือ อยู่ใน โลกแห่งแบบ นั่นเอง
พลาโตเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีแบบ ซึ่งก็คือลักษณะร่วมทั้งทางคุณภาพและโครงสร้างของสิ่งหนึ่ง ๆ แบบทำให้เรามีความเข้าใจและคิดถึงสิ่งหนึ่ง ๆ ได้ตรงกัน เช่น “แมว” แม้ว่าจะมีหลากสีหลายพันธุ์ แต่สิ่งที่ทำให้เราบอกว่าสิ่งมีชีวิตนั้นคือ “แมว” ก็คือสิ่งที่พลาโตเรียกว่า “แบบ” ของแมว จึงเห็นว่าแบบของแมวทำให้เราเข้าใจแมวตรงกัน
เราจะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อเราจะเปรียบเทียบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราก็มักจะใช้แบบของสิ่งนั้น ๆ เป็นมาตรฐานในการตัดสิน เช่น การเปรียบเทียบว่าเสื้อตัวใด “ขาว” กว่ากัน คนที่จะตัดสินได้ก็ต้องมี “แบบของความขาว” เป็นแบบมาตรฐานอยู่แล้ว
พลาโตยืนยันว่าแบบของแมว แบบของความขาว แบบของความกลม แบบของคน ฯลฯ ล้วนแต่มีอยู่อย่างแท้จริงในโลกของแบบ มนุษย์จะรู้จะเข้าใจได้ก็ต้องอาศัยเหตุผลและภูมิปัญญา หากใช้เพียงประสาทสัมผัส มนุษย์ก็จะรู้เพียงภาพสะท้อนหรือ “เงา” ของความเป็นจริงเท่านั้น กล่าวได้ว่า พลาโตเสนอปรัชญาของเขาว่า “สรรพสิ่งในโลกมนุษย์เป็นเพียงภาพจำลองของแบบ หรือภาพสะท้อนของแบบ” แม้ว่าสิ่งเฉพาะในโลกจะสูญหาย/เปลี่ยนแปลงไป แต่แบบซึ่งเป็นสิ่งสากลยังคงดำรงอยู่ตลอดไป
ทัศนะแบบวัตถุนิยม (materialism)
ความจริงที่นักวัตถุนิยมเสนอก็คือ สสารและปรากฏการณ์ของสสารเท่านั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง สิ่งใดไม่สามารถสัมผัส แตะต้อง มองเห็นได้ สิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง ลักษณะสำคัญ ๆ ของแนวคิดแบบจิตนิยม คือ
1. สิ่งที่เป็นจริงจะต้องสามารถค้นหาและตรวจสอบได้ด้วยวิธี ปรนัย หรือ ภววิสัย หรือ วัตถุวิสัย (objective) คือ มีความแน่นอนตายตัว ไม่ขึ้นอยู่กับผู้ค้นหา (แนวคิดนี้สอดคล้องกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์)
2. เป็นแบบนิยัตินิยม (determinism) คือ เชื่อว่าทุกเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างมีสาเหตุ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยบังเอิญ
3. ปฏิเสธความจริงในสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่ยอมรับว่า อสสารมีอยู่จริง
4. ยอมรับการทอนลง (reductionistic) เชื่อว่าทุกสิ่งสามารถทอนหรือย่อยลงจนเป็นสิ่งที่เล็กที่สุดได้ การเข้าใจส่วนย่อยจะทำให้เข้าใจส่วนใหญ่ได้ สรรพสิ่งแตกต่างกันเพียงปริมาณหรือความซับซ้อนของธาตุพื้นฐาน แต่คุณภาพไม่ต่างกัน
5. เห็นว่าค่านิยมต่าง ๆ เป็นสิ่งสมมติ ความดี ความงาม ไม่มีอยู่จริง
อาจกล่าวได้ว่าความจริง ในทัศนะของนักวัตถุนิยมคือ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ ไม่มีอะไรหายไป มีแต่การเปลี่ยนแปลงจำนวนและถิ่นที่อยู่ของวัตถุหรือสสารเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น